fbpx

สุนทราภรณ์ ตำนานเพลงของแผ่นดินที่ก้าวข้ามยุคสมัย

เรื่อง: นรวัชร์ พันธ์บุญเกิด

แม้ว่า “สุนทราภรณ์ เพลงรักเพลงแผ่นดิน โดยเพลงเอก Restage” เรื่องราวของวงดนตรีระดับตำนานที่   คนไทยทุกคนต่างรู้สึกผูกพัน  ได้ถูกนำมาเล่าและถ่ายทอดผ่านบทเพลง  ผ่านเรื่องราวความรัก ความผูกพันของจิตวิญญาณนักดนตรี  รวมแล้วกว่า 83 ปีของวงดนตรีสุนทราภรณ์  โดยเหล่าศิลปินเพลงเอกจากซีชั่น 1และ2 จะจบการแสดงไปแล้ว แต่เรื่องระดับตำนานของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงดนตรีไทยสากลยังอยู่ และจะถูกเล่าขานต่อๆ ไป บทแล้ว บทเล่า ไม่สิ้นสุด ….

เอื้อ สุนทรสนาน  (21 มกราคม พ.ศ. 2453 – 1 เมษายน พ.ศ. 2524) เกิดที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และกว่าจะลงตัวในชื่อของเอื้อ สุนทรสนาน นั้น ท่านเปลี่ยนชื่อมาถึง 3 ครั้ง จาก “ละออ” เป็น “บุญเอื้อ” และ “เอื้อ” ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เมื่อเข้ามาอยู่กับพี่ชายในกรุงเทพมหานคร ได้เข้าเรียนที่วัดระฆัง แล้วย้ายมาเรียนที่โรงเรียนพรานหลวง ซึ่งที่นี่ครูโฉลก เนตรสูตรเป็นผู้สอนไวโอลิน และหลวงเจนดุริยางค์ (พระเจนดุริยางค์ในเวลาต่อมา) แนะนำให้ดช.เอื้อ (ในตอนนั้น) เรียนเฉพาะวิชาดนตรี ไม่ต้องเรียนวิชาสามัญ  พออายุ 12 ปี ก็เข้ารับราชการประจำกองเครื่องสายฝรั่งในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศ “เด็กชา – พันเด็กชาตรี – พันเด็กชาโท” ตามลำดับ ครูเอื้อมีความรู้ทางด้านดนตรีหลายประเภท ทั้งเพลงคลาสสิก (จากพระเจนดุริยางค์), เพลงแจ๊ส (จากครูนารถ ถาวรบุตร) และเพลงไทยเดิม (จากครูมนตรี ตราโมท)

ปี 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้ตั้งสำนักงานโฆษณาการขึ้น และในช่วงเวลาที่ วิลาศ โอสถานนท์ เข้ารับตำแหน่งอธิบดี ได้ยกฐานะจาก “สำนักงาน” ขึ้นเป็น “กรมโฆษณาการ” พร้อมโยกย้ายครูเอื้อจากวงศิลปากรมาตั้งวงดนตรีและเป็นหัวหน้าวงกรมโฆษณาการ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482

วงดนตรีกรมโฆษณาการในสมัยนั้น เป็นวงดนตรีวงเดียวที่ผูกขาดการออกอากาศทางสถานีวิทยุ โดยประชาชนทั่วไปจะได้ฟังเพลงที่ออกอากาศจากห้องส่งศาลาแดงผ่านวิทยุเป็นประจำจนคุ้นเคย ซึ่งนั้น ทำให้วงดนตรีกรมโฆษณาการมีชื่อเสียงมาก

และปีนั้นเอง สุรัฐ พุกกะเวส เลขานุการของโรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นผู้จัดนำวงดนตรีไปเล่นและบรรเลงที่โรงหนังโอเดียน เห็นว่าชื่อ “วงโฆษณาการ” ของราชการคงไม่เหมาะเล่นบรรเลงในงานเอกชน ครูเอื้อจึงได้นำชื่อสกุล “สุนทรสนาน” มาสนธิกับ ชื่อ “อาภรณ์”   ออกมาเป็น สุนทราภรณ์  วงดนตรีสากลแห่งแรกของไทยที่บรรเลงเพลงเรื่อยมาและเป็นที่คุ้นชินจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งเมื่อถึงวันนี้ นับเป็นห้วงเวลาของการก้าวสู่ปีที่ 83 ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ และเป็นระยะเวลา 41 ปีที่ครูเอื้อได้จากไป … แต่บทเพลงและวงก็ยังคงบรรเลงขับขานผ่านนักร้องรุ่นใหม่ๆ ตลอดมา จากยุคแรก, ยุคกลาง,ยุคดาวรุ่ง, ยุคร่วมสมัย จนถึง “นักร้องคลื่นลูกใหม่” ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตของโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี

โดยในปีพ..2552 องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรี

สำหรับ ละครเวที “สุนทราภรณ์ เพลงรักเพลงแผ่นดิน” จากนักร้องที่ชนะการประกวดในซีซั่น 1-2  ในรายการ “เพลงเอก” ของค่ายเวิร์คพอยท์ มารับบทตัวละครในคณะสุนทราภรณ์ เพื่อบอกเล่า “เกร็ด” ที่มากับเรื่องและเพลงนั้นๆ :ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 องก์ คือ เกร็ดชีวิตรักของ “เอื้อ สุนทรสนาน-อาภรณ์ กรรณสูต”  และบทเพลงที่เคยสร้างชื่อและเป็นที่รู้จักกันดีของนักร้องสุนทราภรณ์

และจากเรื่องราวในองก์ 2 นี่เอง ที่GM Live หยิบยกขึ้นมานำเสนอซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของครูเอื้อและเพลงสุนทราภรณ์  เพราะหากจะแบ่งผลงานเพลงสุนทราภรณ์ตามยุคต่างๆ คือ 

ยุคแรกตรงกับช่วงสงครามอินโดจีน (2482-2484), สงครามมหาเอเชียบูรพา (2484-2488), เพลงยุคหนังไทย (2490), เพลงพระราชนิพนธ์-ละครเวที (2492), เพลงยุคสังคีตประยุกต์ (2494), เพลงยุคลีลาศ (2495), เพลงยุควิทยุ (2496), เพลงยุคโทรทัศน์ (2498) จนถึงยุคดาวรุ่งสุนทราภรณ์ และสุนทราภรณ์การดนตรี จนถึงปัจจุบัน บทเพลงมีความหลากหลาย ทั้งเพลงปลุกใจ-สดุดี,เพลงประเภท รัฐนิยม(ยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย) ,  เพลงสถาบัน, เพลงที่เป็นแรงบันดาลใจจากวรรณคดี, เพลงเทศกาล,เพลงประเพณี, เพลงชาวนา-ชาวประมง, เพลงคติธรรมและปรัชญาชีวิต, เพลงยกย่องสตรีและชมธรรมชาติ,เพลงรักและพิศวาส, เพลงสะท้อนสังคม, เพลงประกอบ ภาพยนตร์ ละครเวที ละครโทรทัศน์ ประมาณว่ามีบทเพลงราว 2,000 เพลง เป็นการร่วมคำร้องกับครูเพลงชั้นยอดมากมายหลายท่าน มีนักดนตรีที่เก่งกาจ และนักร้องมากความสามารถ ทั้งร้องเพลงและเล่นละครเพลงได้ 

เป็นที่ยอมรับว่าบทเพลงที่ได้รับการระบุ “ทำนองเอื้อ-เนื้อแก้ว” นั้นได้รับความนิยมมาก รวมถึงผลงานของชอุ่ม ปัญจพรรค์  ซึ่งบทเพลงต่างๆ ของสุนทราภรณ์ ที่บรรเลงต่อเนื่องมาถึง 83 ปี โดยไม่มีช่วงหยุดพัก แม้ในยุคนี้ เพลงสุนทราภรณ์ก็ยังขับขานให้ฟังอยู่เสมอ โดยเฉพาะ “เพลงเทศกาล”  ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากนักร้องต้นฉบับ หรือ นักร้องที่นำมา Cover ใหม่

ที่เห็นภาพชัดเจนและไม่ต้องนานเกินรอก็ลองเดินในห้างสรรพสินค้าซิครับ…ต้องได้ยินบทเพลงเทศกาล “วันขึ้นปีใหม่” ที่เปิดกันแทบทุกห้างแน่นอน เพลง “สวัสดีปีใหม่” – สวัสดีปีใหม่แล้ว ผองไทยจงแคล้วปวงภัย…” และเพลงในกลุ่มนี้ เช่น รำวงปีใหม่, รื่นเริงเถลิงศก,ไชโยปีใหม่, เก่าไปใหม่มา,ส.ค.ส., อำลาปีเก่า ทุกเพลง แม้จะไม่รู้ชื่อเพลง แต่คุ้นเคยทันทีที่ได้ยิน

อีกบทเพลงที่คุ้นหูเด็กทุกยุคสมัย….วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม “วันเด็กแห่งชาติ” แม้จะยุคสมัยที่ความคิดแบ่งเป็นขั้ว-ฝ่าย เกิด “เพลงล้อ” ในทำนองเดียวกัน ! แต่ เพลง “หน้าที่เด็ก”ของชอุ่ม ปัญจพรรค์ ก็ยังคงขับขาน  “เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน … ” ในโรงเรียนที่มีงานรื่นเริงในชั้นอนุบาลและประถมต้องเปิดเพลงนี้แน่ !  ในกลุ่มเพลงที่เกี่ยวกับเยาวชน ยังมี เยาวชนไทย, รำวงเยาวชนไทย, มาร์ชเยาวชนชาติไทย, เด็กไทย หรือนำนิทานไทยมาแต่งเพลงให้เด็ก เช่น ตาอินกะตานา

ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ของอาเอื้อนอกจากเขียนเพลง “หน้าที่เด็ก” แล้ว ยังเขียนเพลงราว 50 เพลงให้กับสุนทราภรณ์แล้ว ทั้งยังเป็นผู้เขียนนวนิยาย “ทัดดาวบุษบา” และเป็นเจ้าของสโลกแกน “คุ้มค่าทุกนาทีดูทีวีสีช่อง3” เพราะป้าอุ่มทำงานที่ช่อง 3 มานาน จนเสียชีวิตเมื่อ 2556 เพลงอื่นๆที่คุ้นหู เช่น  แสนห่วง (เพลงแรก) , รักบังใบ (แจ้งเกิด รวงทอง ทองลั่นทม) , รักเอาบุญ , สำคัญที่ใจ , ขอเป็นจันทร์ , จนนาง , หนึ่งในดวงใจ (แต่งตามคำบัญชาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อรับขวัญ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์) ฯลฯ

ถัดไป …. ปีใหม่ไทย เทศกาลสงกรานต์ ต้องเพลง “รำวงวันสงกรานต์” –  “วันนี้เป็นวันสงกรานต์…” และอื่นๆในกลุ่ม เช่น รำวงเริงสงกรานต์, รำวงสงกรานต์หวานใจ, ตลุงสุขสงกรานต์, วิมานสงกรานต์, สื่อสงกรานต์ ทำนองขึ้นเมื่อไหร่ รับรอง เซิ้งกันสนุก!

เพลงลอยกระทง ซึ่งในละครเวทีเผยเกร็ดว่า คุณอาภรณ์ (ภรรยาครูเอื้อ) ได้รับการขอร้องจากผู้จัดงานลอยกระทง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าให้ครูเอื้อช่วยแต่งเพลงเกี่ยวกับลอยกระทงให้สักเพลง ซึ่งครูแก้วและครูเอื้อใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็ได้เพลง “รำวงลอยกระทง” นี้  บรรเลงร้องสดๆ บนเวทีคืนนั้น

สำหรับเพลงรำวงที่แทรกอยู่ในประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ รวมถึงกลุ่มชาวนา-เพลงเกี่ยวข้าว-ชาวประมง ฯลฯ  ก็มีเป็นจำนวนมาก และเป็นประเพณีของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่การบรรเลงทุกครั้งต้องปิดด้วยเพลง”รำวง” !

วงดนตรีกรมโฆษณาการในสมัยนั้น เป็นวงดนตรีวงเดียวที่ผูกขาดการออกอากาศทางสถานีวิทยุ ประชาชนจะได้ฟังเพลงที่ออกอากาศจากศาลาแดงเป็นประจำและเป็นที่คุ้นเคย ทำให้วงดนตรีกรมโฆษณาการ       (สุนทราภรณ์) มีชื่อเสียงมาก ในยุคแรกเป็นช่วงสงครามอินโดจีนต่อด้วยสงครามมหาเอเชียบูรพา เพลงปลุกใจของสุนทราภรณ์ก็ได้เข้ามามีบทบาทมากเช่นกัน  “มัณฑนา โมรากุล” นักร้องคนแรกของวงโฆษณาการ  ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 เคยเล่าให้ฟังว่า ทำงานเพียงไม่กี่เดือนก็เกิดสงครามอินโดจีน ไม่มีเพลงใหม่ ส่วนใหญ่เอาเพลงเก่ามาร้อง เพลงส่วนมากในช่วงนี้เป็นเพลงปลุกใจรักชาติ ใช้เพลงจังหวะมาร์ชเป็นส่วนใหญ่ อย่างเพลง “ไทยรวมกำลัง” เธอจะร้องสุดเสียง เนื่องจากเป็นคนที่ร้องเต็มเสียงเต็มคำ ซึ่งการร้องแนวนี้ เวลาเสียงตกผู้ฟังจะจับได้ทันที ซึ่งเธอไม่ชอบร้องเพลงแบบขมุกขมัว

เพลงปลุกใจเป็นตัวกลางหรือเครื่องมือที่ช่วยสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนให้ทราบถึงทิศทางและนโยบาย พร้อมปลุกปลอบ สร้างขวัญ กำลังใจให้กับคนในชาติ ยิ่งเพลงเหล่านี้ได้ถูกส่งผ่านวิทยุกระจายเสียง ยิ่งเป็นการตอกย้ำซึมเข้าไปในสมองและจิตสำนึกของประชาชน

โดยในละครเวทีครั้งนี้ มีการกล่าวถึง เหตุการณ์ในช่วงที่ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เจ้าของคำขวัญ ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ซึ่งมีบทบาททางการเมืองสูงมากในช่วงก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2500ต้องการเพลงปลุกใจจากวงสุนทราภรณ์ ถึงขนาดเช่าห้องพัก เบิกกินไม่อั้น ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ให้ครูเอื้อและครูแก้ว ได้พักเพื่อเขียนเพลงปลุกใจ ซึ่งเพลง “ไทยรวมกำลัง” คือหนึ่งในบทเพลงกลุ่มนี้ที่ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับแรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ไทยรวมกำลังตั้งมั่น จะสามารถป้องกันขันแข็ง ….”

อีกเพลงคือ “บ้านเกิดเมืองนอน” จังหวะฟร็อกทร็อต เพลงนี้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งขึ้น เมื่อปี 2488 และชนะการประกวดเพลงปลุกใจในปีนั้น เดิมเพลงนี้ขับร้องโดยมัณฑนา โมรากุล, ชวลีย์ ช่วงวิทย์, สุปาณี พุกสมบุญ, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี แต่ไม่ได้บันทึกแผ่นเสียงไว้ ต่อมาศรีสุดา รัชตะวรรณ, วรนุช อารีย์, มาริษา อมาตยกุล, บุษยา รังสี มาขับร้องบันทึกแผ่นเสียงจนแพร่หลาย โดยในบทละครเวทีมีพูดทำนองว่า เพลงนี้ คนฟังจะฟังกันยาวนานแค่ไหน ? ณ วันนี้ พิสูจน์แล้วว่า เพลง “บ้านเกิดเมืองนอน”  ยังได้รับความนิยมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และมีการนำมา Cover ในยุค “ลุงตู่” – พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายเวอร์ชั่นมากด้วยแนวการร้องที่แตกต่างกันไป

ส่วนเพลงในยุคสงคราม อื่นๆ เช่น ไทยสามัคคี, แนวหลัง, ไทยต้องทำ, สดุดีชาติไทย, พันธมิตร, ดอกไม้วัฒนธรรม, เอกราช ฯลฯ ยุคสนองนโยบายด้านวัฒนธรรมผู้นำ เช่น สดุดีบรรพไทย, ดอกไม้ของชาติ, สวมหมวก,นเรศวรมหาราช, พุทธศาสน์คู่ไทย ฯลฯ  นั้น ก็เป็นอีกยุคที่มีเรื่องเล่าขานต่อกันมาที่น่าสนใจมาก และเป็นเรื่องจริงซะด้วย อาทิ ชวลี ช่วงวิทย์และผองเพื่อนนักร้อง กระโดดลงท่อหนีเสียงหวอเตือนระเบิดที่โอเดียน, มัณฑนา คนร้องเพลง “สวมหมวก” แต่ไม่สวมหมวก  และท่านผู้นำเห็นพอดี!  เป็นต้น 

ด้านผลงานเพลงอื่นๆ ในส่วนของสถาบันต่างๆ  เช่น เพลงสถาบันพระมหากษัตริย์ , เพลงประจำสถาบันมหาวิทยาลัย, เพลงสถาบันสี่เหล่าทัพ และอื่นๆ อีกมากมาย ก็มีไม่น้อย เรียกว่านี่คือเสี้ยวหนึ่งที่เล็กมากของสุนทราภรณ์เท่านั้น

บทเพลงสุนทราภรณ์เป็นที่นิยมของชนชั้นสูงและคนชั้นกลาง มีบทบาทเปลี่ยนไปตามวิถีของสมัยนิยม เรื่อยมาจนถึงยุคลีลาศ และยุคโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี การสืบทอดบทเพลงยังมีอยู่ไม่ขาดสายจนถึงวันนี้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ