fbpx

‘กุนขแมร์ กับบทตอนแห่งการแย่งชิงอัตลักษณ์ของอาคเนย์’

เมื่อกล่าวกันถึงสิ่งที่เป็น ‘วัฒนธรรม’ แล้วนั้น ถ้ามันจะก่อให้เกิดปัญหา ก็มักจะอยู่ที่ ‘การตีความ’ และ ‘ลักษณะร่วม’ ของภูมิภาคพื้นถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าลักษณะร่วมที่ว่า มีความคลับคล้ายคลึงกัน และมีประวัติศาสตร์ของท้องที่ที่ใกล้เคียงกันมากเกินกว่าที่การศึกษาจะสามารถย้อนรอยถอยกลับไปถึง เมื่อนั้น ข้อพิพาทจากมาตรฐานใหม่ กับความเข้าใจเดิมๆ ก็มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ

และมันก็เป็นอีกครั้ง กับวัฒนธรรมของสยามประเทศ เมื่อกีฬา ‘มวยไทย’ ได้ถูกกล่าวอ้าง ว่าหยิบยกมาจากศิลปะป้องกันตัวพื้นบ้านของกัมพูชาอย่าง ‘กุน ขแมร์’ หรือ ‘โบกะตอร์’ …

เรื่องราวที่เป็นปัญหา เกิดขึ้นเมื่อกัมพูชา จัดการแข่งขันมวย ภายใต้ชื่อ ‘กุน ขแมร์’ หรือ ‘โบกะตอร์’ ที่มีกฎ กติกา และรูปแบบ คล้ายคลึงกับมวยไทยเกือบจะแทบทุกประการ โดยปฏิเสธที่จะใช้ชื่อตามที่สมาพันธ์มวยไทยนานาชาติ หรือ IFMA ได้กำหนดเอาไว้ แม้ว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC จะยืนยันเสียงขาด ว่า ‘มวยไทย’ คือกีฬาระดับสากลก็ตาม

ก็ทำไมจะต้องแคร์ ในเมื่อมีหลักฐานยืนยันชัดเจน ว่ามวยไทย ลอกมาจากโบกะตอร์มาชัดๆ จากภาพศิลาจารึกในประวัติศาสตร์เขมรเมื่อหลายพันปีก่อน….

ซ้ำร้าย ยังเดินหน้า พร้อมบอยคอตต์มวยไทย ในการแข่งขันซีเกมส์ปี 2025 ที่จะมาถึง และดำเนินการ ‘สร้างประวัติศาสตร์’ แห่งโบกะตอร์ ทั้งการโฆษณา การกล่าวอ้าง และการยกหลักฐานสาธกมาอีกหลากหลาย ซึ่งก็ถูกตีตกจนกลายเป็นเรื่องให้ชวนหัวเราะว่า จะทำไปเพื่ออะไร ทั้งการเอาภาพมวยไทยไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จนถึงการอ้างสัญชาติของนักมวยไทยชื่อดังอย่าง บัวขาว บัญชาเมฆ ว่าเป็นกัมพูชา จนเจ้าตัวต้องมาปฏิเสธกันพัลวัน

ในจุดนี้ ถ้ามองด้วยใจที่เป็นกลางอยู่บ้าง ก็คงพอจะเข้าใจได้ว่า วัฒนธรรมร่วมของเอเชียอาคเนย์นั้น มีการผสมกลมกลืนกันอย่างยากจะแยกขาด มีจุดร่วมที่หลากหลายตามช่วงระยะเวลา ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม จิตรกรรม งานเขียน ไม่เว้นแม้กระทั่งศิลปะป้องกันตัว การต่อสู้แบบใช้ปัจจัยแปดอย่างหมัดเท้าเข่าศอก ก็ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยมีแต่เพียงแห่งเดียว การต่อสู้สมัยโบราณของภูมิภาคนี้ ต่างมีต้นสายธารร่วมกันจากการใช้ประโยชน์ของทุกจุดในร่างกายแทบทั้งสิ้น

แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น การแตกแขนงต่อยอดออกไป คือเรื่องของแต่ละวัฒนธรรม แต่ละประเทศ มวยไทยมีหลักการอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ มีกฎกติกาที่ชัดเจน และส่งออกเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมมายาวนานกว่าร้อยปี จนมาอยู่ในรูปแบบปัจจุบันที่สามารถใช้งานได้จริงในสถานการณ์ต่างๆ

ในวัฒนธรรมอื่นย่านเอเชียอาคเนย์เอง ก็มีหลายกีฬาศิลปะป้องกันตัว ที่ต่อยอดมาจากต้นสายธารเดียวกัน แต่ได้ผลลัพธ์ที่มีเอกลักษณ์ หลากหลาย ไม่ซ้ำใคร เช่น ปัญจักสีลัตของมาเลเซีย เป็นต้น

และโบกะตอร์หรือ กุน ขแมร์ เอง ถ้ามองในแง่พื้นบ้านของกัมพูชาแล้ว ก็มาในแนวทางเดียวกัน ไม่แตกต่างกัน

แต่สิ่งที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย คือความพยายามที่จะประกอบสร้างประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของชาติขึ้นมาใหม่ ภายใต้การนำเอาผลสัมฤทธิ์ที่เสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วของประเทศเพื่อนบ้านไปใช้ในการผลักดัน กุน ขแมร์ หรือ โบกะตอร์ ในครั้งนี้ มันกำลังสะท้อนถึงความโหยหาในแก่นรากที่สูญหาย และสถานการณ์ด้านตัวตนที่เจือจางลงของกัมพูชา ซึ่งไม่มีอะไรสะดวกในการแก้ปัญหาได้ดีไปกว่า การหยิบยืมและคัดลอก ของใกล้ตัว ไปใช้แบบเสร็จสรรพทันใจ ไม่ว่าจะเป็นเชิงมวย หรือประวัติศาสตร์สงกรานต์ที่เริ่มจะมีประเด็นตามมาติดๆ ให้ได้เห็นกัน

และเมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์กัมพูชา ที่วัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี เคยถูกทำลายล้างในช่วงเขมรแดง จนนครวัด เจียงแอก ตวนสแลง และสีหนุวิลล์ คือสิ่งที่ผู้คนรู้จักจากประเทศนี้ มันคงเป็นวิกฤติทางตัวตนที่น่าเศร้าอยู่ไม่น้อย

เพราะสำหรับคนภายนอก การผลักดันโบกะตอร์ หรือกุน ขแมร์ มันคงเป็นเรื่องตลกที่ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป

แต่สำหรับคนกัมพูชา การดำรงอยู่โดยไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองเป็นใคร มีอะไรที่สามารถชี้ชัดว่านี่คือ ‘กัมพูชา’ คงเป็นความน่าเจ็บปวดอย่างถึงที่สุดก็เป็นได้กระมัง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ