fbpx

Election’s Memoir 66: บันทึกเลือกตั้งปี’66

วันนี้อาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ตามปฏิทินล้านนา ฉบับโบราณ เป็นวันฟ้าตี่แสง เศษ 1 หัวเรียงหมอน ฤกษ์ดีไม่ดี เหมาะแก่การใดบ้างอย่างไร ไปเปิดตำราดูกันเอาเอง

แต่ในทางการเมือง ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของไทย เพราะมีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 27 ขึ้น จากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

ตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า ไปจนถึง 5 โมงเย็น เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน52,287,045 คน แยกเป็นชาย 25,136,051 คน หญิง 27,150,994 คน ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง กาบัตรสองใบ

ใบหนึ่งบัตรสีเขียว เลือกพรรคที่ชอบ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ)

อีกใบบัตรสีม่วง เลือกคนที่ใช่ (ส.ส.แบบแบ่งเขต)

หนนี้ กกต.ได้รับงบประมาณจัดการเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 5,945161,000 บาท เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี2562 ที่ใช้งบประมาณอยู่ที่ 5,800 ล้านบาท คงเกิดจากกติกาที่แก้ไขใหม่ให้กลับไปใช้บัตรสองใบ จึงทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ความจริงการเลือกตั้งในประเทศไทย ที่เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปี2475 เราผ่านการใช้กติกามาเกือบครบทุกอย่าง

แบบลองผิดลองถูกมาตลอด

เราเคยมีสภาแบบลูกผสม “ครึ่งบกครึ่งน้ำ” สมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยครั้งแรกเลยเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ให้ประชาชนเลือกตัวแทน ไปทำหน้าที่เลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง

กล่าวคือ มีทั้ง ส.ส.ประเภทที่ 1 และ ส.ส.ประเภทที่ 2

นอกจากนั้น ก็เคยผ่านการเลือกตั้งที่ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค หรือ ส.ส.อิสระ จนมาถึงให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ส่วนเขตเลือกตั้ง ก่อนจะมาเป็นเขตเดียว เบอร์เดียวในวันนี้ เราเคยผ่านมาทั้งพวงเล็ก พวงใหญ่ สมัครเป็นทีม และเขตใหญ่แต่เรียงเบอร์

หรือแม้แต่คำว่า “โหวตโน” ก็มีอยู่ในกติกา เป็นช่องทางเลือกให้กับผู้ไปลงคะแนนที่ไม่ประสงค์จะเลือกใคร กาเครื่องหมายในช่องดังกล่าว เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิหรือไปทำให้บัตรเสีย

เพราะการเลือกตั้งถือเป็น “หน้าที่” ของพลเมืองไทย ไม่ใช่เป็น “สิทธิ” ที่จะไปหรือไม่ไปก็ได้ ซึ่งหากไม่ไปใช้สิทธิและไม่ได้แจ้งรักษาสิทธิไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะทำให้เสียสิทธิต่างๆ ที่พลเมืองไทยพึงมี

ส่วนสำคัญอื่นๆ น่าจะเป็นเรื่องบัตรเลือกตั้ง ที่มีทั้งบัตรใบเดียว บัตรสองใบ ผ่านการใช้มาทั้งหมด เพราะก่อนรัฐธรรมนูญปี2540 ไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จึงใช้บัตรใบเดียว และกลับไปใช้บัตรใบเดียวอีกครั้งในปี2562 ที่นำระบบการเลือกตั้งจากเยอรมนีมาใช้ ที่เรียกกันว่า

#เยอรมันโมเดล

#ระบบจัดสรรปันส่วนผสม

#ต้องมีการคำนวณหาสสพึงมี

จนเกิดเป็นความสับสนอลหม่านขึ้นในการเลือกตั้งปี2562 เพราะล้วนแต่ใหม่ด้วยกันทั้งหมด ตั้งแต่ กกต.ที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ไปจนถึงประชาชนผู้ลงคะแนน

จนมีคำว่า “บัตรเขย่ง” และ “ส.ส.ปัดเศษ” เกิดขึ้น!!

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานั้น รวมทั้ง เรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ “หาร 100” หรือ “หาร 500” ที่ถกเถียงกันอยู่นาน จนต้องแก้กลับไป-กลับมา อีกทั้ง การยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ฉบับแล้วฉบับเล่า จนมาถึงฉบับที่ 20 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน และทำท่าจะต้องมีฉบับที่ 21 ขึ้นอีกในอนาคต

จึงถูกนิยามการแก้ไขปัญหาแบบนี้ว่า เหมือนกับความพยายาม “ตัดเกือกเข้าหาตีน” แต่ไม่ได้หาเกือกที่พอดีกับตีน!!

ที่ยกคำโบราณที่ว่ามาเปรียบเทียบ ไม่ได้เจตนาจะบูลลี่หรือให้ค่าประชาธิปไตยว่าต่ำต้อยแต่ประการใดไม่ เพียงแต่มีคนเคยเปรียบเทียบเอาไว้และเห็นภาพได้ชัดกับพัฒนาการประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของเรา

เอาล่ะ ขอร่วมบันทึกประวัติศาตร์การเมืองอีกหน้าหนึ่งของไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปปี2566 ไว้ประมาณนี้

ที่สุดท้ายแบบท้ายสุด เราพยายามหนีคำว่า “บัตรเขย่ง” เมื่อการเลือกตั้งเที่ยวที่แล้ว แต่ก็ไม่วายยังมาเจอกับ “บัตรในเข่ง” กันต่ออีกครับ?!

เรื่อง : มนตรี จอมพันธ์

บรรณาธิการฝ่ายข่าว และสถานการณ์ปัจจุบัน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ