fbpx

ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ กับเส้นทางที่เดินไปอย่าง ‘อิสระ’ และ ‘มีแบบแผน’

บนถนนของแวดวง ‘การเมือง’ นั้น เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่เดินได้ยากแขนงหนึ่ง เพราะนอกจากประสบการณ์กับความรู้จะต้องถึงพร้อมแล้ว วัยวุฒิและความเจนจัดในสนาม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดให้กันได้ ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองจากการลงมือทำ จากความผิดพลาด โดยมีสายตาของประชาชนหกสิบล้านคนคอยเฝ้ามองตรวจสอบอยู่

และยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงตำแหน่งข้าราชการการเมืองระดับสูงอย่าง ‘ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา’ ผู้อยู่ข้างกาย ประมุขสภาในการทำงานและการประชุมในแต่ละวาระให้เป็นไปตามระเบียบ และเรียบร้อยลุล่วง

แต่สำหรับ ‘ดร. อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยวัยเพียงสี่สิบปี คุณวุฒิที่ถึงพร้อม และการวางเส้นทางชีวิตที่ชัดเจนมาตั้งแต่แรกเริ่ม ประกอบกับความชื่นชอบในโลกแห่งการเมืองมาตั้งแต่วัยเยาว์ ส่งให้เขาได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดอย่าง ‘ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา’ ได้อย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

ไม่ใช่ด้วยโชคช่วย แต่เป็นการเดินอย่างอิสระ มีเป้าหมาย และความมุ่งมั่นแน่วแน่จริงจัง กับหลักคิดที่ชัดเจน ที่ GM Magazine ได้รับเกียรติร่วมพูดคุยในรายละเอียดชีวิตในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้คุณผู้อ่านได้รู้จักผู้ชายคนนี้มากขึ้น

สาเหตุที่สนใจในการทำงานในภาคการเมือง

ตอบสั้นๆ อย่างไม่ซับซ้อนเลยคือมีความชอบ มีความสนใจมาตั้งแต่วัยเยาว์ครับ จำได้ว่าสมัยนั้น ก็ชอบดูอภิปราย และมีความฝันที่จะเข้ามาทำงานในภาคการเมืองมาตลอด

ถ้ามีความชื่นชอบในด้านงานภาคการเมือง เหตุใดจึงไม่ศึกษาตรงด้านรัฐศาสตร์ แต่เรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์แทน

ความชอบก็ส่วนหนึ่ง แต่ด้วยความรับผิดชอบในฐานะลูกชายคนโต ที่ต้องสืบทอดธุรกิจของครอบครัวซึ่งเป็นงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต้องมาก่อนครับ และผมมองว่า การทำงานการเมือง คือการดูแลประชาชน แต่ผมจะไม่สามารถทำได้ดีเลย ถ้าหากหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัว ยังไม่สามารถจัดการให้เรียบร้อยได้ จึงตัดสินใจเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ และลงลึกในด้านดังกล่าวจนถึงระดับปริญญาเอก

ส่วนความชื่นชอบในงานด้านการเมือง ผมก็คิดเสมอว่า ถ้าดูแลหน่วยย่อยที่สุดอย่างครอบครัวดีพอแล้ว ค่อยก้าวเข้ามาทำงานในด้านนี้ ทำให้ระหว่างเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ ผมได้โทรศัพท์กลับมาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อสายไปยังท่านรองอธิการบดี เพื่อเรียนแจ้งถึงความปรารถนาที่ต้องการเรียนคณะรัฐศาสตร์เพื่อทำงานการเมือง แต่ไม่สามารถกลับไปสอบได้ ขอให้ช่วยส่งข้อสอบมาที่สถานทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ และให้เจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นผู้คุมสอบได้หรือไม่ ซึ่งผมก็ได้ความอนุเคราะห์จากหลายฝ่าย จนสามารถเรียนจบปริญญาโทรัฐศาสตร์ การบริหารรัฐกิจควบคู่ไปด้วยครับ 

จากสมัยวัยเยาว์ มองภาพการเมืองในวันนั้น เปรียบเทียบกับในวันนี้ แตกต่างกันอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

สมัยเด็ก ยอมรับว่าดูแล้วสนุกนะครับ คือการที่นำเหตุผลมาโต้เถียง โดยในปัจจุบัน การประชุมสภาฯก็ยังเป็นการพูดคุยหารือกัน แต่บริบท ข้อมูล และเนื้อหาของสมาชิกแต่ละท่านที่นำมาใช้ ก็มีความลึกซึ้ง ละเอียดมากกว่าสมัยก่อน เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ทำให้ผมรู้สึกว่า ดีใจที่ได้เปลี่ยนจากคนข้างสนาม มาเป็นคนในแวดวงครับ

บางคนมองว่า คนทำงานการเมือง เมื่อเข้ามาแล้ว ย่อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี มีความคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดเหล่านี้

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง รูสเวลต์ เคยกล่าวไว้ว่า คนที่ไม่เคยทำผิดพลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ผมมองว่า นักการเมืองเองก็มีผิดพลาด มีอารมณ์ มีความรู้สึก แต่อย่างน้อยก็เป็นการทำงานภายใต้แสงไฟที่ส่องลงมาตลอดเวลา สายตาของประชาชนที่มองเข้ามา นั่นทำให้การกระทำหรือคำพูด มีสิทธิที่จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก และหนักหน่วงกว่าสมัยก่อน ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจ และระมัดระวัง มีสติ คิดให้ถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้นก่อนตัดสินใจทำสิ่งใดออกไป

การทำงานที่ต้องอยู่ภายใต้การสอดส่องตรวจสอบจากภาคประชาชนที่เข้มข้นอย่างงานการเมือง มีวิธีในการรับแรงกดดันที่เกิดขึ้นอย่างไร

มีหลายคนที่ถามคำถามนี้ และผมก็ตอบได้อย่างเต็มปากว่า ผมมาจากครอบครัวที่เคารพกฎหมายมาก ไม่เคยมีประวัติทำผิดกฎหมายใด เป็นคนชนชั้นกลางปกติที่เจอได้ทั่วไป นั่นทำให้ผมสบายใจในการมาทำงานการเมืองโดยไม่มีชนักใดๆ รวมถึงการได้ความอนุเคราะห์จากผู้หลักผู้ใหญ่ ก็ยังไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายมากนักในรอบสี่ถึงห้าปี เรียกว่าค่อนข้างพอใจในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับความคาดหวังที่มี

ด้วยวัยวุฒิที่เป็นอยู่ กับบทบาททั้งนักการเมือง และที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่ไม่น้อยเลย อะไรที่ทำให้ก้าวมาถึงจุดนี้

ผมคิดว่า ทั้งหมด เกิดจากความตั้งใจ และการวางแผนเส้นทางชีวิตเอาไว้ล่วงหน้า อย่างเช่นที่ผมเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ก็ไม่มีใครบังคับนะครับ ผมตั้งใจ เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นของครอบครัว นั่นทำให้ผมได้รับโอกาสต่างๆ เข้ามา แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ เมื่อได้รับโอกาสแล้ว จะทำให้ดีที่สุดได้อย่างไร คิดว่าน่าจะเป็นคุณสมบัติที่ทำให้สามารถทำงาน ได้อย่างทุกวันนี้

ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบมีอะไรบ้าง

แรกเริ่ม ผมดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานรัฐสภา ดูแลขอบข่ายงานทั้งหมด จนกระทั่งมีผู้ลาออก เพื่อไปเป็นรัฐมนตรี ลำดับก็เลยเลื่อน และผมก็ได้ขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผมจึงต้องลาออกจากตำแหน่งเลขานุการประธานรัฐสภา และดำรงตำแหน่งใหม่ในระยะเวลาสามปี จนกระทั่งได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่ตำแหน่งสูงสุดครับ

ส่วนขอบเขตหน้าที่ ก็เป็นการควบคุมและบริหารคณะทำงานของประธานรัฐสภาให้ดำเนินไปในทิศทางและวัตถุประสงค์ของประธานรัฐสภา ถ้าให้เข้าใจอย่างง่าย ก็คือหัวหน้าคณะทำงานของประธานรัฐสภาที่ดูแลความเรียบร้อยครับ

มีความกดดัน ในหน้าที่การงานในฐานะที่ปรึกษาประธานรัฐสภาบ้างหรือไม่

ถ้าในแง่ของตำแหน่งงานแล้ว ไม่นะครับ แต่ถ้าจะมีอะไรที่มองไว้ ก็คือมีวาระบางอย่างที่ผมอยากจะผลักดันให้สำเร็จ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดเหลือเพียงเดือนกว่าๆ ก็ถือว่าเป็นความท้าทาย ที่ผลักดันให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้าเพื่อทำให้เกิดขึ้นให้ได้

ทำงานใกล้ชิดกับท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จากท่านมามากน้อยเพียงใด

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากท่านชวนมาตลอดคือ ท่านเป็นคนที่เสมอต้นเสมอปลาย สมถะ เรียบง่าย และมีความเป็นตัวเอง แต่ถ้านิยามท่านชวนว่าอย่างไรนั้น  เคยมีผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำผมเอาไว้ว่า ท่านชวนเป็นผู้ใหญ่ที่ ‘ง่ายๆ แต่ไม่ง่าย’ คือ ท่านมีชีวิตที่เรียบง่าย มีแนวทางที่ชัดเจน แต่การทำงานกับท่านให้ได้มาตรฐานสมตามความหวังของเราและของท่าน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ต้องปรับตัวมากน้อยเพียงใด ในการทำงานตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ซึ่งต้องเป็นทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา และเป็นทั้งที่ปรึกษา รวมถึงการทำงานกับนักการเมืองทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

สิ่งหนึ่งที่ดีมากๆ คือ ท่านชวนให้เกียรติกับผมมาก รวมถึงให้เกียรติกับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือว่าโชคดีมาก แต่ในการทำงานกับนักการเมืองนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องจำเอาไว้เสมอคือ นักการเมืองจะรักในการอภิปราย ซึ่งตัวของผม นอกจากจะต้องอภิปรายแล้ว ยังต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย ผมก็ต้องปรับสมดุลระหว่างการพูดและฟัง แต่จะพยายามฟังให้มากกว่าน่ะครับ

ในฐานะที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ในพรรคที่มีระบบและแนวคิดที่ค่อนข้างอนุรักษ์สูง มีแนวคิดในการจูน และปรับเข้าหากันอย่างไร

ระบบอาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์นั้นถือว่ามีความแข็งแรงค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้ ตัวของผมเอง ในตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า ทางพรรคเองก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ และสามารถทำงานร่วมกับคนทุกรุ่นได้ แต่ต้องพิสูจน์ด้วยการทำงานเช่นกัน

คิดเห็นอย่างไร กับคำกล่าวที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์พยายามดึงคนรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อแก้ปัญหาพรรคในช่วงขาลง

อันที่จริง ต้องมองบริบทการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมานะครับว่า มันแบ่งเป็นสองขั้วใหญ่ๆ ที่สำคัญ คือขั้วที่มีความเกี่ยวพันกับทหาร และขั้วฝ่ายค้าน การที่จะเป็น ‘ขั้วที่สาม’ เป็นทางเลือกใหม่นั้น ไม่ใช่อะไรที่ง่าย แม้แต่ในการเมืองระดับสากลก็ตาม ซึ่งการที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามดึงคนรุ่นใหม่เข้าไปนั้น ก็มองว่าเป็นความพยายามที่จะวางตัวเองให้เป็นทางเลือกที่แตกต่างออกไป

ในฐานะคนรุ่นใหม่ คาดหวังการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองในทิศทางใด

ถ้าจากใจจริง ผมมองว่าจะอย่างไรก็ได้ ขอให้เคลื่อนตัวไป ‘ข้างหน้า’ นะครับ ซึ่งหนทางไปสู่ความสำเร็จ ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง แต่ขอแค่อย่าให้วนอยู่กับที่หรือถอยหลัง ซึ่งในปัจจุบัน ยอมรับว่ามันมีความวนเวียนเป็นวงกลม ไม่ก้าวไปไหน

ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่หลากหลายนั้น จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องเพิ่มกฏเกณฑ์ในการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งให้เข้มข้นขึ้น

ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น ต้องถือว่ามีกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดมาก นะครับ แต่สุดท้าย สิ่งที่ผมเรียนรู้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ถ้าคน กับ ระบบ มีปัญหา กฎหมายจะดีแค่ไหน ก็มีปัญหาแน่นอน แต่ถ้าคนกับระบบดี ถึงกฎหมายจะมีปัญหา ก็จะสามารถหาทางแก้ไขและหาทางไปข้างหน้าได้ นั้นคือสิ่งสำคัญนะครับ คนที่ดี และกฎหมายที่ดี ต้องก้าวไปพร้อมกัน

-การเรียนวิศวรกรรมศาสตร์ ช่วยในงานด้านการเมืองมากน้อยเพียงใด

ช่วยได้มากเลยครับ คือตอนที่เรียนปริญญาเอก ผมทำการศึกษาวิจัยด้านโมเลกุล ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองเลย แต่สิ่งที่ผมได้รับจากการเรียนวิศวกรรมศาสตร์คือ ระบบ วิธีคิด และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความไม่ยอมแพ้กับอุปสรรคใดๆ ซึ่งการเรียนระดับปริญญาเอก ได้ให้กับผมพอสมควร

ดูจากบุคลิกแล้วเป็นคนที่มีแนวคิดชัดเจน มั่นใจ แต่เคยประสบปัญหาที่ทำให้รู้สึกท้อถอย ไม่แน่ใจ จนไม่อยากทำงานการเมืองบ้างหรือไม่

มีครับ เป็นเรื่องปกติเลย เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ต่อให้วางแผนดีแค่ไหน แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นไปตามที่คิด แต่ผก็เรียนรู้จากความผิดหวัง แก้ไข และเดินหน้าต่อ ซึ่ง ดร.วิวัฒน์  มุ่งการดี เคยให้ความเมตตาแนะนำกับผมว่า สำหรับโลกการเมือง หนึ่งสัปดาห์ ก็ถือว่ายาวนานแล้วสำหรับการวางแผนล่วงหน้า ซึ่งหมายถึง ต่อให้วางแผนคิดมาดีแค่ไหน แต่ความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งระยะเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมาทำให้ผมมีภูมิต้านทานพอสมควร

ถ้าไม่ได้ทำงานการเมือง คิดว่าตนเองจะทำงานในด้านไหน เพราะอะไร

สำหรับผม ถ้าไม่ได้ทำงานการเมืองแล้ว คิดว่าส่วนตัวชอบสอนหนังสือนะครับ ซึ่งตั้งแต่กลับมาจากต่างประเทศ ด้วยธุรกิจของครอบครัว บวกกับหน้าที่ในฐานะนักการเมือง ทำให้ไม่สามารถเป็นอาจารย์เต็มเวลาได้ แต่ผมก็ยังหาโอกาสไปสมัครเป็นอาจารย์พิเศษตามสถาบันต่างๆ ซึ่งผมได้ไปสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์สายที่จบมา และวิชาด้านสังคมศาสตร์ที่ผมชื่นชอบ และด้วยการเป็นคนที่ทำอะไรแล้วต้องทำไปจนสุด ก็สอนไปด้วย สะสมผลงานทางวิชาการ และขอตำแหน่งทางวิชาการตามระเบียบมหาวิทยาลัยครับ

ที่มาที่ของโครงการ ‘หน้ากากจิ๋ว’

เกิดขึ้นมาจากการที่ ผมต้องการหาหน้ากากอนามัยให้ลูกในช่วง COVID-19 แพร่ระบาดใหม่ๆ แต่หน้ากากผู้ใหญ่ นั้นใหญ่มาก ปิดบังไปหมด จนต้องฝากเพื่อนซื้อจากประเทศญี่ปุ่น ก็มาคิดว่า ขนาดผมที่มีความพร้อม ยังลำบากขนาดนี้ ถ้าเป็นคนอื่นไม่แย่เลยหรือ จึงเริ่มต้นโครงการ MiniMask หรือ หน้ากากจิ๋ว โดยเริ่มจากระดมเงินคนใกล้ตัว ไม่มากมายอะไร เพื่อเย็บหน้ากากผ้า แล้วก็ทำ Application สำหรับคนที่ต้องการ พอผ่านไปสามชั่วโมง มีคนลงชื่อล้านกว่าคน เป็นข้อพิสูจน์ว่าหน้ากากอนามัยเด็กคือสิ่งจำเป็นมากในเวลานั้น และสิ่งที่ทำก็มาถูกทางแล้ว

มีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง แบ่งและจัดสรรเวลาอย่างไร

การจัดสรรเวลาคือคุณสมบัติเบื้องต้นที่ต้องมีเลยครับ เพราะเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน จะใช้อย่างไร เพราะไม่สามารถทำทุกเรื่องให้เสร็จไปหมดได้  ต้องจัดลำดับความสำคัญ ว่าสิ่งใดควรมาก่อน อาจจะไม่ได้ทำได้เต็มร้อยนัก แต่ก็อยู่ในระดับที่พอใจ

ในบทบาทของความเป็นพ่อ ได้วางเป้าหมายหรือกำหนดทิศทางของลูกเอาไว้หรือไม่

ผมไม่ได้บังคับกะเกณฑ์อะไรเขาเลยนะครับ ลูกอยากจะเรียนอะไร อยากจะทำอะไร ได้ตามที่ต้องการ โชคดีที่ลูกทั้งสองคนสามารถคุยด้วยเหตุผลได้ ซึ่งผมตั้งใจไว้เลยว่า ผมจะไม่บังคับลูก ไม่ว่าเขาจะทำอะไร จะเรียนอะไร หรือแม้แต่อยากจะเป็นเพศอะไร แต่สิ่งที่ผมเข้มงวดมาก คือ การปฏิบัติตัว การเข้ากับสังคม ซึ่งโดยรวมก็ยังถือว่าทำได้ดีครับ

ถ้าให้นิยามความเป็นตัวเอง

คำถามยากนะครับเนี่ย (หัวเราะ) ผมไม่เคยคิดถึงคำถามนี้เลย คือผมมองว่า สิ่งที่ตัวเองทำมาตลอด สะท้อนและบ่งบอกความเป็นตัวเองได้ดีที่สุด แต่ถ้าจะให้นิยามจริงจริง แล้วนั้น คงจะเป็นคนที่ตั้งใจกับสิ่งที่ทำให้สำเร็จ และไปให้สุดทาง น่าจะเป็นสิ่งที่ผมมองว่าเป็นจุดแข็งของตัวเองที่สุดแล้ว

เลือกตั้งครั้งใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว ได้วางแผนไว้หรือไม่

คงไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นนั้นนะครับ อย่างที่เรียนให้ทราบ งานการเมือง วางแผนหนึ่งอาทิตย์ก็ถือว่ายาวนานมากแล้ว ตอนนี้ก็คือทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้น่ะครับ

สุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากจะฝากให้กับผู้อ่าน GM Magazine

อยากจะให้กำลังใจผู้อ่านทุกคนน่ะครับ ชีวิตกับปัญหา คือสิ่งที่มาพร้อมกัน ก็อยากให้ทุกท่านมีพละกำลัง สติ และแรง เพื่อฝ่าฟันกับปัญหาได้อย่างเต็มความสามารถ ให้ได้รู้สึกว่าทำได้อย่างเต็มที่ ขอเพียงรู้สึกเท่านี้ ผมมองว่าก็ชนะไปเกินครึ่งแล้วล่ะครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ