fbpx

cWallet ตัวช่วยผู้ประกอบการไทย บริหารจัดการ Carbon footprint

ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญกับภารกิจ ‘Net Zero Emissions’ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 มากขึ้น แน่นอนว่า การจะบรรลุภารกิจดังกล่าวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ แต่หนึ่งในปัญหาที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่กำลังเผชิญคือ การขาดตัวช่วยในการบริหารจัดการปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของการประกอบธุรกิจ (Carbon Footprint)

หา Insight ก่อนออกสตาร์ทภารกิจช่วยโลก (ร้อน)

จากจุดนี้เองทำให้ แนทนัชชา เลิศหัตศิลป์ ตัดสินใจรวมกลุ่มกับคนที่มีไอเดียตรงกันอีก 8 คน เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม cWallet ระบบติดตามและบริหาร Carbon Footprint ช่วยให้องค์กรตรวจสอบและควบคุมการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ เติบโตด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งในการพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมาย “Net Zero Emissions” ให้ได้ภายในปี 2065

ก่อนจะลงมือพัฒนาแพลตฟอร์ม ได้ไปคุยกับทั้งฝั่งภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่า ทิศทางของประเทศไทยจากนี้จะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันเราต้องการรู้อินซต์ของภาคธุรกิจว่าเขาติดปัญหาในส่วนไหน ซึ่งปัญหาที่เจอหลักๆ คือ ขาดเครื่องมือในการวัดปริมาณ Carbon Footprint โดยที่ผ่านมาต้องใช้วิธีกรอกข้อมูลใส่ตาราง Excel ซึ่งมีความซับซ้อน ผู้ที่กรอกต้องมีความรู้และความเข้าใจ เพราะตัวการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้มีแค่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แต่มีถึง 7 ชนิด นอกจากนี้ ด้วยจำนวนบุคลากรที่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ Carbon Footprint มีจำนวนจำกัด ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ สูงตาม

ตั้งโจทย์พัฒนาแพลตฟอร์มที่ทั้งใช้งานง่ายและสะดวก

พอเจอ Pain Point แบบนี้ โจทย์ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ของ cWallet จึงเน้นไปที่การใช้งานที่ง่ายและสะดวก สามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยในแพลตฟอร์มจะมี 3 แพ็กเกจหลักๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดเล็ก ที่อาจจะเริ่มต้นจากการทำแบบทดสอบเพื่อประเมินตัวเอง ถ้าเป็นองค์กรที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ก็จะมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้นมาช่วยเก็บข้อมูล หรือ ถ้าสเกลบริษัทใหญ่ จะมีการนำ AI มาตรวจสอบความผิดปกติของการใช้พลังงานหรือปล่อยคาร์บอน จะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ปรับตัวพร้อมรับโอกาสและความท้าทาย

อย่างไรก็ตาม ถึงจะทำการบ้านมาดี แต่พอได้เข้าไปคุยกับลูกค้าจริง เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา cWallet ก็เจอทั้งโอกาสและความท้าทาย เพราะแม้ภาคธุรกิจของไทยจะตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่ได้มีกลุ่มที่ลงมือทำมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะภาครัฐไม่ได้มีข้อบังคับให้ผู้ประกอบการต้องตรวจ Carbon Footprint หรือ มีการเรียกเก็บ Carbon Tax เหมือนในต่างประเทศ แต่อย่างน้อยการที่เห็นองค์กรใหญ่ๆ เริ่มออกมาขยับตัว ก็ทำให้ supplier ที่อยู่ใน supply chain ต้องตื่นตัวตาม บวกกับผู้บริโภคยุคนี้ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับแบรนด์ที่รักษ์โลก จึงทำให้เห็นว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาส

พาบริษัทไทย พิชิตภารกิจ Net Zero Emissions

เป้าหมายของ cWallet คือ อยากพาบริษัทในไทย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3 ล้านบริษัทบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะมี 13,000 บริษัทมาใช้แพลตฟอร์มของ cWallet ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มคำนวณ Carbon Footprint แต่ยังมีบริการที่ช่วยองค์กรลดการปล่อย Carbon Footprint และในอนาคตยังมีแผนจับมือกับพันธมิตร เพื่อบูรณาการข้อมูลต่างๆ ให้ครอบคลุมโดยองค์กรสามารถวางแผนกลยุทธ์ได้ จนไปถึงขั้นตอนปฏิบัติลงมือตั้งแต่การประเมิน Feasibility ว่าหากมีการลดใช้กระดาษ ลดใช้ถุงพลาสติก จะลด Carbon Footprint ได้เท่าไหร่ ไปจนถึงการจัดทำโครงการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ หรือการนำเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนเข้ามาช่วย แล้วจึงนำข้อมูลมาประมวลผลและแสดงผลไว้บนแพลตฟอร์มเดียว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดูแลสิ่งแวดล้อมขององค์กร ง่ายต่อการตรวจสอบ และสามารถนำไปขอใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วย

ถอดบทเรียนของการเป็นสตาร์ทอัพ

ถามว่า อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นสตาร์ตอัพ นัชชาบอกว่า การเป็นสตาร์ทอัพสอนให้รู้ว่า ไม่มีไอเดียไหนไม่ดี แต่จุดตัดที่สำคัญ คือ เราได้ลงมือหรือเปล่า ซึ่งการจะทำให้ไอเดียเป็นจริงได้ เราต้องลองนำไอเดียมาหาฟีดแบ็กกับกลุ่มลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าไอเดียนั้น สามารถแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์การใช้งานได้จริงหรือเปล่า

สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มีไอเดียที่ดี แต่ปัญหาที่กำลังโฟกัสอยู่มันเป็นปัญหาใหญ่จริงไหม ก็อีกเรื่องนึง เพราะฉะนั้น พอมีไอเดีย เราต้องลองเอาไคุยกับคนที่อยู่ในแวดวงนั้นจริงๆ เพื่อนำฟีดแบ็กมาปรับปรุงและพัฒนาต่อ เพราะหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของสตาร์ทอัพคือ ต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมจะปรับเปลี่ยนธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้การมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่ดีและมี Mentor ที่ดีมาช่วยติดปีกให้ธุรกิจก็สำคัญ

สำหรับ cWallet เองในตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะทำแพลตฟอร์มบริหารจัดการ Carbon Footprint ตั้งใจว่าจะทำตลาดสำหรับซื้อ-ขาย คาร์บอน แต่พอไปคุยกับผู้ประกอบการจริง ถึงรู้ว่าปัญหาของพวกเขา คือ ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองผลิต Carbon Footprint เท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ก่อนจะพูดถึงการซื้อ-ขายคาร์บอน ต้องเริ่มจากการคำนวณคาร์บอนก่อน

“เราเลยเริ่มจากตรงนี้ และค่อยๆปรับโมเดลธุรกิจมาตลอด ซึ่งก็มีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มาเป็น Mentor ช่วยให้ความรู้ คำปรึกษา พาทีมเราไปเจอผู้ประกอบการในหลากหลายสาขา ทำให้พบว่าลูกค้ากลุ่มแรกที่ควรโฟกัสคือ กลุ่มผู้ประกอบการส่งออก เนื่องจากต่างประเทศค่อนข้างตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเป้าหมายของ cWallet คือเข้าถึงผู้ประกอบการทุกกลุ่ม แต่อย่าลืมว่าข้อจำกัดของสตาร์ทอัพ คือ ไม่ได้มีทุนเยอะ เพราะฉะนั้นต้องจัดลำดับความสำคัญ เลือกโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจะจ่ายเงินก่อน เพื่อจะได้มีรายได้มาต่อยอดและขยายธุรกิจต่อไป” นัชชากล่าวทิ้งท้าย

 

รายละเอียดเพิ่มเติม :

https://www.cwallet.co/

https://www.facebook.com/cwallet.co

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ