fbpx

‘มงกุฏ’ และ ‘อาญาจากสวรรค์’: พิธีสวมมงกุฏในงานบรมราชาภิเษกเจ้าแผ่นดิน

ปัจจุบันทั่วโลก มี ๔๓ ประเทศ จาก ๒๐๖ ประเทศ ที่สถาบัน “พระมหากษัตริย์” ยังตั้งมั่นอยู่ ในประเทศเหล่านี้ล้วนผ่านการจัดงาน  “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศเมื่อพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่เสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

ประเทศที่มี“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

ประเทศทั้ง ๔๓ ประกอบด้วย ๑.ประเทศไทย, ๒.ประเทศญี่ปุ่น, ๓.ประเทศกัมพูชา, ๔.ประเทศมาเลเซีย, ๕.ประเทศภูฏาน, ๖.ประเทศโอมาน, ๗.ประเทศบาห์เรน, ๘.ประเทศบรูไน, ๙.ประเทศเดนมาร์ก, ๑๐.ประเทศสวีเดน, ๑๑.ประเทศลิกเตนสไตน์, ๑๒.ประเทศโมนาโก, ๑๓.ประเทศจอร์แดน, ๑๔.ประเทศซาอุดีอาระเบีย, ๑๕.ประเทศสวาซิแลนด์, ๑๖.ประเทศเลโซโท, ๑๗. ประเทศนอร์เวย์, ๑๘.ประเทศเบลเยียม, ๑๙. ประเทศเนเธอร์แลนด์, ๒๐.ประเทศลักเซมเบิร์ก, ๒๑. ประเทศสเปน, ๒๒. ประเทศโมร็อกโก, ๒๓.นครวาติกัน, ๒๔.ประเทศตองกา, ๒๕.รัฐคูเวต, ๒๖.รัฐกาตาร์, ๒๗. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ๒๘. สหราชอาณาจักร (เครือจักรภพอังกฤษ ๑๖ ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, จาไมกา, บาร์เบโดส, หมู่เกาะบาฮามาส, เกรนาดา, ปาปัวนิวกินี, หมู่เกาะโซโลมอน, ดูวาลู, เซนต์ลูเซีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, แอนติกาและบาร์บูดา,เบลิซ, เซนต์คิดส์และเนวิส)

Crown& Coronation ในต่างประเทศ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกชาติตะวันตกจะให้ความสำคัญกับ “มงกุฎ” (Crown) ซึ่งอาจจะเป็นมงกุฎที่ได้รับการจัดสร้างเป็นพิเศษเฉพาะชาตินั้นๆ หรือบางชาติก็ใช้ “ผ้าโพก” เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงพิธีกรรมดังกล่าว การสวมมงกุฎเพื่อแสดงว่า ได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์เต็มรูปแบบ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทางตะวันตก ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Coronation” และคำว่า “Corona” ในความหมายของกรีก โรมันแต่ครั้งโบราณ หมายถึง “มงกุฎแห่งชัยชนะ” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการวางมงกุฎของพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่

ในหนังสือ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”(มรดกไทย) หน้า ๒๐-๒๑ กล่าวว่า

“ทางตะวันตกมีมงกุฎหลายชั้นและหลายรูปแบบ ล้วนอุทิศให้ผู้ชนะทั้งสิ้น เช่น Celestial crown เป็นมงกุฎของโรมันที่มอบแด่ผู้มีชัยชนะทางทหาร  ซึ่งเป็นมงกุฎรูปกลมมีรังสีประดับโดยรอบเป็นแฉก บนแฉกแต่ละแฉกมีรูปดาวดวงเล็กๆ ประดับอยู่บนยอด Antique crown หรือ Eastern crown เป็นมงกุฎที่แสดงถึงความเป็นกษัตริย์แห่งโรมัน แต่สำหรับในสหราชอาณาจักรจะมอบแด่รัฐบุรุษผู้ประสบความสำเร็จ ในอินเดีย  และเมืองขึ้นอื่นๆทางตะวันออก มงกุฎที่เกี่ยวข้องกับทางการทหารมีอีกหลายแบบเช่น  Mural crown, Naval crown, Vallary crown ซึ่งมีรูปร่างต่างกันในรายละเอียด และมีความหมายที่ต่างกันบ้าง

นอกจากนี้มงกุฎแห่งชัยชนะชนิดที่ประดับด้วยใบไม้ต่างๆล้วนมีความหมายทั้งสิ้น ในระยะหลังส่วนใหญ่จะใช้ในงานมงคล อาทิ

  • มงกุฎช่อลอเรล (Laurel crown) มีต้นกำเนิดจากมงกุฎแห่งสงคราม และต่อมากลายเป็นพวงดอกไม้แห่งเกียรติยศของผู้ชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและกีฬาไฟเธียน
  • มงกุฎแห่งพลเมือง (Civic crown) เป็นรางวัลแก่ผู้ช่วยเหลือประชาชนในการรบ ประกอบด้วยใบ acormsกับใบโอ๊ก
  • มงกุฎช่อเมอทีล (Myrtle crown) ใบเมอทีลเป็นเครื่องหมายแทนเทพธิดาวีนัสใช้มอบแด่ผู้ชนะ ต่อมาใช้ในพิธีแต่งงานและรวมทั้งใช้ประดับบนศีรษะของผู้วายชนม์
  • Obsidiamal crown ประกอบด้วยใบสมุนไพรหรือหญ้าต่างๆ (Herbs) มอบให้แด่ผู้ที่ช่วยเหลือเมืองหนึ่งมิให้ถูกรัฐอื่นเข้ายึดครอง
  • มงกุฎใบมะกอก (Olive crown)  มอบให้ผู้มีชัยชนะทางทหาร

จะเห็นว่า มงกุฎที่กล่าวถึงนี้ ในตะวันออกมิค่อยพบนัก แต่กลับนิยมมงกุฎที่ทำด้วยโลหะและอัญมณีมากกว่า และจะมอบให้เฉพาะผู้ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น ส่วนนายทหารหรือขุนนางอื่นจะได้รางวัลในความกล้าหาญของตนเป็นพวกข้าทาสบริวาร ช้าง ม้า และเครื่องประดับอัญมณี โดยผู้เป็นพระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานให้”

แต่เดิมนั้น พระราชาธิบดีมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า เป็นผู้สืบทอดและได้รับมอบสิทธิ์นี้จากพระเจ้า ผูกเอา “รัฐ” กับ “กษัตริย์” เข้าไว้ด้วยกัน  อย่างในอินเดียโบราณ กษัตริย์ถือกำเนิดจากพระเป็นเจ้า , อียิปต์โบราณ ฟาโรห์คือบุตรแห่งเทพรา ซึ่งเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์, ประเทศญี่ปุ่น พระจักรพรรดิสืบเชื้อสายจากอะมะเตะระชุ สุริยเทวีของญี่ปุ่น ประเทศไทย มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ คือสมมติเทพ ทรงเป็นนารายณ์อวตาร

ในพิธี “มงคลอินทราภิเษก” นั้น มีกล่าวไว้ในพระบาลีว่า

“สกฺกํราชาภิเศกํ มหาสตฺตํ มงฺคลํ อันว่าลักษณะอินทรภิเษกคือ สมเด็จอมรินทราธิราช เอาเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้ามาถวาย เมื่อจะได้ราชสมบัตินั้นก็ดี และเสี่ยงบุษยพระพิไชยราชรถมาจรดฝ่าพระบาท ด้วยฤทธิอำนาจวาสนานั้นก็ดี และเหาะเหินโดยนภดลอากาศ มีฉัตรทิพยโอภาสมากางกั้นก็ดี ลักษณะสามประการนี้ชื่อ อินทรภิเษกแล” สรุปความโดยย่อก็คือ การอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยพระอินทร์นำราชสมบัติมามอบให้นั่นเอง”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกปัจจุบันนี้ได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัย บางประเทศคงเหลือไว้เพียง “พิธีการ” ต่อการครองราชย์ อันเกี่ยวข้องกับการรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์, พระราชอิสริยยศ, การเข้ารับพร ฯลฯ

บางชาติ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ให้ความสำคัญกับการสวมมงกุฎ หรือ ผ้าโพกพระเศียร , บางชาติให้ความสำคัญกับการสรงพระมุรธาภิเษก เช่น ประเทศไทย, บางชาติให้ความสำคัญในพิธีเจิม และแต้มน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ