fbpx

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เปิดมุมมองนำทัพองค์กรพลังงาน สู่เป้า NET ZERO 2050 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

มาถึงวันนี้ ไม่อาจปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของโลกที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกที่ร้อนขึ้น ชั้นบรรยากาศที่ถูกทำลาย น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย น้ำท่วม และดินฟ้าอากาศที่เริ่มแปรปรวนจนกลายเป็นภาวะวิกฤติในหลายพื้นที่ หลายสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้ปรากฏออกมาให้เห็น และความเข้าใจที่ว่าอายุขัยของโลกนั้นยังอีกยาวไกล ก็ดูเหมือนจะหดสั้น จนเริ่มมองเห็นอนาคตที่ดูเหมือนสภาพไร้ความหวัง

อันที่จริงย้อนหลังกลับไปประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล ล้วนเห็นพ้องต้องกันเรื่องการลด ‘ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์’ ว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และต้องทำให้สัมฤทธิผล ไม่ใช่แค่น้อยลง แต่ต้องให้ติดอยู่ในระดับ ‘ศูนย์’ หรือใกล้เคียง โดยตั้งเป้ากรอบเวลาอีก 5 ทศวรรษ ที่จะมาถึงในการประชุม COP26 ณ กรุงกลาสโกว์ โดยมีการหารือกันอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย

สำหรับประเทศไทย ภายใต้การให้ปฏิญาณและประกาศจุดยืนโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะลดปริมาณคาร์บอนฯ ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 คือเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเรื่องยาก แต่นั่นคือเสียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายออกมามีส่วนร่วม ซึ่งต้องขับเคลื่อนองคาพยพไปในทางเดียวกัน

และกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง ‘ปตท.’ ซึ่งเป็นเสาหลักด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ก็ได้ขานรับกับแนวทางดังกล่าวในนโยบายและทิศทางที่จะก้าวเข้าสู่ ‘Net Zero’ พร้อมผนึกกำลังไปสู่จุดหมายคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ให้ได้อย่างพร้อมเพรียงด้วยเช่นกัน

แต่แนวทางดังกล่าวนั้นจะมีขั้นตอนอย่างไร มีปรัชญาเบื้องหลังแบบไหน และตั้งเป้าเพื่อให้สัมฤทธิผลปลายทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อองค์กรอย่างไร GM Magazine ได้รับเกียรติจาก อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาร่วมพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ และแนวทางที่ท้าทาย โดยขณะที่คุณผู้อ่านกำลังอ่านเรื่องราวในขณะนี้ ทาง ปตท. ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว เพื่อให้บรรลุต่อเป้าหมายอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างไม่ลดละ และอย่างมีแบบแผนที่ชัดเจน

เพราะสำหรับ ปตท. แล้ว นี่ไม่ใช่แค่ทำความดี เพื่อสังคม แต่คือ ‘พันธกิจ’ ที่มีต่อโลก ซึ่งพร้อมส่งให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป จึงต้องยอมรับว่า…เป็นเดิมพันที่สูงยิ่ง

ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงกันมานานแล้ว CEO ปตท. มองความสำคัญของประเด็นนี้อย่างไร

อรรถพล : แม้เป็นเรื่องที่พูดกันเยอะ แต่สำหรับประเทศไทย ต้องบอกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ มีการศึกษาเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อโลกตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2019 ซึ่งประเทศไทย ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ในลำดับที่ 9 นับว่าสูงมาก และยิ่งเวลาผ่านไปผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งชัดเจน ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทย ก็ยิ่งทำให้ข้อมูลการศึกษาที่มีนั้นมีเค้าความเป็นจริงและสำคัญมากขึ้น

ภาวะโลกร้อนกับแนวคิดในเชิงอนุรักษ์สำหรับคนไทย อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวจนเกินไป โดยส่วนตัวคิดเห็นอย่างไร

อรรถพล : ในมุมมองของปัจเจก อาจจะมองว่าไม่ได้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางบวก หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ทั้งนี้สิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเกิดจากการขับเคลื่อนเป็นองคาพยพของทุกภาคส่วนไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่นในงาน COP26 ที่ภาครัฐประกาศเป้า Net Zero ภายในปี 2065 นับเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยมาก โดยเฉพาะภาคพลังงานที่ไทยมีปริมาณคาร์บอนฯ โดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 247 ล้านตัน จึงถือได้ว่าเป็นงานใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญ และร่วมมือไปพร้อมกันด้วย โดย ปตท. ก็ได้นำเป้าหมายดังกล่าวมาปรับเพื่อเป็นทิศทางการดำเนินงานสู่นโยบาย Net Zero 

Net Zero ประชาสัมพันธ์ หรือ ‘พันธกิจ’ สำคัญที่องค์กรใหญ่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

อรรถพล : สำหรับ ปตท. แล้ว การมุ่งสู่ Net Zero ไม่ใช่เพียงการประชาสัมพันธ์เพียงครั้งคราว เพราะภาพการดำเนินงานจะไม่ชัดเจนและไม่จริงจัง รวมทั้งทำให้ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ การมุ่งสู่ Net Zero ของ ปตท. จึงถือเป็นอีกหนึ่งพันธกิจหลัก เห็นได้จาก ปตท. และบริษัทในเครือพร้อมจับมือขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้สอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐที่ประกาศไว้ในเวที COP26 ซึ่งกลุ่ม ปตท. จัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลุ่ม ปตท. หรือกลุ่ม G-Net (PTT Group Net Zero Task Force) อันเป็นการรวมตัวของบริษัท Flagship ทั้งหมดอีก 6 บริษัท มาพูดคุยหารือว่าจะทำสิ่งใดเพื่อตอบสนองต่อแนวทางดังกล่าวได้บ้าง และให้ผลรวมนั้นสัมฤทธิผลได้เร็วกว่าปี 2065 ซึ่งจะเป็นการช่วยประเทศในทางหนึ่งด้วย

งานใหญ่แบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแนวทางระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ปตท. ได้มองภาพทั้ง 3 ระยะนี้อย่างไรบ้าง 

อรรถพล : อย่างที่กล่าวไปข้างต้นครับว่า ปตท. ตั้งใจจะไปให้ถึงเป้าหมาย Net Zero ให้ได้ภายในปี 2050 แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการวางแผนงานที่ดี ซึ่งเรามีกลยุทธ์ 3P คือ 

1. Pursuit of Lower Emissions : การทำธุรกิจของ ปตท. ต้องมองในเรื่องของการผลิตคาร์บอนฯ ต่ำในทุกมิติ อย่างเช่นโรงงานไหนที่เริ่มเก่าและไปไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ก็จะระงับการผลิต ส่วนโรงงานที่มีอยู่แล้วก็จะยกระดับ รวมถึงการใช้คาร์บอนฯ ในเชิงอนุรักษ์มีการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะที่ทันสมัย จนถึงการใช้พลังงานทดแทน

2. Portfolio Transformation : ปรับพอร์ตการลงทุนสู่พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ด้านพลังงานเก่าอย่างถ่านหินก็ได้ยุติการลงทุนและขายออกจากพอร์ตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนพลังงานจากฟอสซิลอื่น ปตท. จะเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ด้านก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานฟอสซิลที่สะอาดที่สุด 

3. Partnership with Nature and Society : การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แน่นอนว่า เราจะมองไปถึงเรื่องการปลูกป่า ซึ่ง ปตท. เคยได้ปลูกป่า 1.1 ล้านไร่ไปแล้วตั้งแต่ปี 2537 และดูแลฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันป่าที่ปลูกนี้สามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้ 2.14 ล้านตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าต่อปี รวมทั้งยังได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและชุมชนโดยรอบให้สามารถใช้ประโยชน์จากป่าไม้ได้อีกด้วย 

เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านพลังงานที่เคยเป็น ‘ข้อจำกัด’ ของประเทศไทย มาในวันนี้เราก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้นไปได้มากน้อยเพียงใด

อรรถพล : ก้าวข้ามไปได้พอสมควรแล้วครับ แต่ทั้งนี้ ต้องประกอบกับนโยบายของภาครัฐที่จะให้การสนับสนุนพลังงานเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นข่าวดีที่ว่าสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนก็จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งโรงงานในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในทางที่ดี

คุยกันในแง่แนวทางของบริษัทและหน่วยงานกันมาพอสมควรแล้ว ถ้าพูดถึงแง่ ‘บุคคล’ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะคาร์บอนฯ และรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง

อรรถพล : ส่วนตัวผมมองในแง่ของ ‘การบริโภค’ ก่อนเป็นอันดับแรก ในทุกๆ มิติ หรืออย่างใน ปตท. เอง แม้จะไม่ได้ออกเป็นนโยบายบังคับกะเกณฑ์อะไร แต่ก็พยายามทำให้เกิดเป็นแนวทางเพื่อให้มีการปฏิบัติตามๆ กัน เช่น เราเชิญชวนให้ทุกคนปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส โดย ปตท. ก็ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยเพิ่มอุณหภูมิในสำนักงาน แม้ว่าจะเพิ่มแต่อากาศก็ยังเย็นสบายเหมือนเดิม หรือจะเริ่มจากการขึ้นบันไดแทนลิฟต์ก็ได้ ได้ทั้งช่วยโลกแล้วสุขภาพแข็งแรงด้วย อีกวิธีที่ง่ายก็คือหมั่นทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ แค่นี้เราก็ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้แล้ว 

เรียกว่า ทำจนกลายเป็น ‘ปรัชญา’ ของบริษัท ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน

อรรถพล : เป็นเช่นนั้นครับ เรียกว่า พยายามให้เกิดค่านิยมของการใช้พลังงานอย่างมีคุณค่าในทุกจังหวะและทุกมิติ รวมทั้งทำให้เกิดความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและคุ้มค่าที่สุด

พูดถึงบริษัทหลักไปแล้ว สำหรับบริษัทในเครือ ปตท. นั้น ได้มีการเปิดรับแนวทางเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย Net Zero ที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วยหรือไม่ อย่างไร

อรรถพล : แน่นอนครับว่าต้องมี เพราะกลุ่ม ปตท. ได้มีการรวมกลุ่มกันในนาม G-Net โดยจะดึงความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทออกมา เพื่อนำจุดเด่นเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนองค์กรและประเทศสู่สังคมคาร์บอนฯ ต่ำ เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะดูแลเรื่องการดักจับและกักเก็บคาร์บอนฯ (Carbon Capture and Storage : CCS) เริ่มจากแหล่งในอ่าวไทย ปตท. มีโครงการที่จะนำคาร์บอนฯ ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ทั้งนี้ ทั้ง 7 บริษัทจะมีกิจกรรมกลางที่ทำร่วมกัน นั่นคือ ‘การปลูกป่า’ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มออกซิเจนให้แก่โลก โดย ปตท. ตั้งมั่นว่าจะปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ และบริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม ปตท. จะร่วมมือกันปลูกป่าอีก 1 ล้านไร่ เท่ากับว่าทั้งกลุ่ม ปตท. จะปลูกป่าเพิ่มทั้งหมด 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030 ซึ่งหากสำเร็จลุล่วง ป่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวมกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าต่อปี

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ